ในวันที่ 2-10 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานนวัตกรรมในงานเกษตรแฟร์มูลนิธิจุฬาภรณ์ ปี 2556 โดยได้นำผลงาน เรื่อง “ไก่เคยูเบตง งานวิจัยกินได้” ซึ่งผลงานนวัตกรรมชิ้นได้ นับได้ว่าเป็นชิ้นงานที่โดดเด่น และ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยฯ
โดยในการนี้ รศ.ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช หัวหน้าภาควิชาสัตวบาล ได้ถวายรายงาน รายละเอียดงานวิจัย ต่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในพิธีเปิด งานเกษตรแฟร์มูลนิธิจุฬาภรณ์ ปี 2556
นวัตกรรม “เคยูเบตง งานวิจัย กิน ได้ “
ไก่เบตง สายเคยู หรือ เคยูเบตง ริเริ่มจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการพัฒนาและคัดเลือก สายพันธุ์ภายในฝูงปิดเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี โดยคงลักษณะประจำพันธุ์บางส่วนไว้ เช่น ขนงอกช้า ขนปีกและขนหางน้อย หงอนจักร ในเพศผู้มุ่งเน้นเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต และ การตอบสนองต่อการให้อาหารเพื่อผลิตเนื้อ ส่วนในเพศเมียมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตพร้อมกับมุ่งเน้นเพื่อเพิ่มอัตราการให้ไข่มากขึ้น
3 จุดเด่น ของ เคยูเบตง
1.ไขมันน้อย
จากการศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพซากระหว่างไก่เคยูเบตงและไก่เนื้อสายพันธุ์ทางการค้าพบว่าไก่เคยูเบตงมีเปอร์เซนต์ไขมันใต้ผิวหนัง น้อยกว่าไก่เนื้อสายพันธุ์ทางการค้า จึงทำให้คุณภาพเนื้อโดยรวมมีไขมันที่น้อยกว่าและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
2. หนังอร่อย
จากการที่ไก่เคยูเบตง มีชั้นไขมันใต้ผิวหนังที่น้อย เมื่อนำมาประกอบอาหาร ทำให้ได้เนื้อสัมผัสของหนังที่มีลักษณะกรุบกรอบ ไม่เละ หรือ เปี่อยยุ่ย ไม่ว่าจะเป็นการอบ ย่าง หรือ ต้ม เป็นต้น จึงได้ความนิยมจากผู้บริโภคว่าเป็นไก่ที่มีหนังอร่อย
3. เนื้อนุ่ม
ความนุ่มของเนื้อได้ทำการศึกษาโดยวิธีวัดแรงตัดผ่านเนื้อ โดยทำการเปรียบเทียบความนุ่มของเนื้อระหว่างไก่เคยูเบตงอายุ 16 สัปดาห์ และไก่เนื้อสายพันธุ์ทางการค้า อายุ 6 สัปดาห์ พบว่าค่าแรงตัดผ่านมีค่าไม่แตกต่างกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเนื้อไก่เคยูเบตงมีลักษณะที่ไม่เหนี่ยวถึงแม้จะมีอายุที่มากขึ้น ประกอบกับการที่มีไขมันน้อยจึงทำให้เนื้อนุ่มและไม่เละ เหมาะกับการนำไปประกอบอาหาร